4 สินค้าเด่นในตลาดหุ้น ที่นักลงทุนมือใหม่ไม่ควรพลาด !
ถ้าให้นึกถึงว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่น่าสนใจที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้น นักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่อาจจะนึกถึง “หุ้น” เป็นอันดับต้น ๆ (สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าหุ้นคืออะไร ขอแนะนำให้อ่านบทความ “ความเข้าใจเกี่ยวกับหุ้น ที่นักลงทุนมือใหม่ต้องรู้”) แต่ที่จริงแล้วในตลาดหุ้นยังมีสินค้าหรือตราสารทางการเงินอีกหลายประเภทที่น่าสนใจลงทุน ซึ่งผมจะมาแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักและทำความเข้าใจกันในบทความนี้ครับ เนื่องจากผมเชื่อว่าการที่เรารู้จักและทำความเข้าใจกับตราสารทางการเงินหลายประเภท จะทำให้เรามีมุมมองของการลงทุนที่กว้างขึ้นและลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มีอะไรบ้างที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหุ้น
ตราสารทางการเงินที่สามารถนำมาซื้อขายกันในตลาดหุ้นนั้นมีอยู่มากมายหลายประเภท ได้แก่ หุ้นสามัญ (Common Stock) หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) หน่วยลงทุน (Unit Trust) ใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงในไทย (Non – Voting Depository Receipt) ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (Depository Receipt) หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture) กองทุน ETF (Exchange Traded Fund) และ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivatives Warrant)
อย่างไรก็ตามตราสารบางประเภทที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นก็มีบางตัวที่สามารถซื้อขายในตลาดหุ้นได้แต่ไม่ได้รับความนิยมจากนักลงทุน จึงทำให้แทบจะไม่มีการซื้อขายกันเลยในแต่ละวัน เช่น หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) หน่วยลงทุน (Unit Trust)
ในเนื้อหาต่อจากนี้จึงจะขอนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นของตราสารที่เด่น ๆ 4 อย่างที่นักลงทุนมือใหม่น่าจะทำความรู้จักไว้ ซึ่งจะมีอะไรบ้างไปติดตามกันต่อได้เลยครับ
1. หุ้นสามัญ (Common Stock) พระเอกคนสำคัญในตลาดหุ้น
หุ้นสามัญ หรือที่เรามักนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “หุ้น” เป็นตราสารที่นักลงทุนซื้อขายคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในตลาดหุ้น โดยหุ้นสามัญจะถูกออกโดยบริษัทที่ต้องการระดมเงินทุนจากคนทั่วไป เมื่อเราเข้าไปซื้อหุ้นตัวใดก็ตาม เราจะมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการร่วมกับผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ในบริษัทนั้นตามสัดส่วน ซึ่งเราจะได้รับสิทธิจากการถือหุ้น เช่น เงินปันผล สิทธิในการออกเสียงในการประชุม เป็นต้น นอกจากนี้เรายังมีโอกาสได้กำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น (Capital Gain) อีกด้วย
หุ้นสามัญ : ผู้ถือหุ้นจะอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของกิจการร่วม นักลงทุนที่จะลงทุนหุ้นสามัญตัวไหน ควรมีความเข้าใจในธุรกิจที่จะไปลงทุนเป็นอย่างดี
2. ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) ใบจองเพื่อซื้อหุ้นในอนาคต
ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ หรือ วอแรนท์ เป็นตราสารที่ระบุว่าผู้ที่ถือครองจะได้รับสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ ในราคาที่กำหนดเมื่อถึงระยะเวลาที่ระบุไว้ (ในตลาดหุ้น เรามักจะ เรียก Warrant ว่า “หุ้นลูก” ส่วนหุ้นสามัญ เราจะเรียกว่า “หุ้นแม่”) ซึ่งปกติแล้วราคาของหุ้นลูกจะมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาของหุ้นแม่
การที่หุ้นแม่ (บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น) ออกวอแรนท์ มีวัตถุประสงค์ต้องการที่จะระดมเงินทุนในอนาคต บริษัทนั้น ๆ จึงออกวอแรนท์ซึ่งเป็นตราสารที่มีลักษณะเป็นใบจองซื้อหุ้น โดยกำหนดราคาที่จะขายหุ้นเพิ่มทุนและวันที่ใช้สิทธิเพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนในอนาคตไว้ในใบจอง โดยสัญลักษณ์ของวอแรนท์จะใช้สัญลักษณ์ของหุ้นแม่ แล้วตามด้วย –W เช่น ถ้าหุ้นแม่มีสัญลักษณ์เป็น ZZZ เมื่อออกวอแรนท์ก็จะใช้สัญลักษณ์ ZZZ-W
วอแรนท์ : ใบจองที่สามารถใช้สิทธิในการซื้อหุ้นแม่ได้ในอนาคต ผู้ถือวอแรนท์สามารถเลือกที่จะใช้สิทธิในการซื้อหุ้นแม่หรือไม่ใช้ก็ได้ ซึ่งตราสารชนิดนี้เหมาะกับคนที่ต้องการผลตอบแทนรวดเร็ว และพร้อมรับความเสี่ยงได้สูงกว่าการซื้อหุ้นแม่โดยตรง
3. ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants) ขึ้นลงอ้างอิงหุ้นแม่แต่เร็วกว่า
ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เรานิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “DW” เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหรือสิทธิในการขายหุ้นที่อ้างอิง ขอเรียกสั้น ๆ ว่าเป็นใบจองซื้อ หรือใบจองขายแล้วกันนะครับ โดยลักษณะสำคัญที่นักลงทุนควรทราบ คือ ใบจองซื้อจะเรียกว่า Call DW ซึ่งเป็นตราสารที่ปกติแล้วราคาจะขึ้นหรือลงในทิศทางเดียวกับหุ้นแม่ (หุ้นแม่ราคาขึ้น Call DW ราคาขึ้น แต่ถ้าหุ้นแม่ราคาลง Call DW ก็จะราคาลดลง) ส่วนใบจองขายเราจะเรียกว่า Put DW ซึ่งจะมีความแตกต่างจาก Call DW ตรงที่โดยปกติราคาของ Put DW จะขึ้นหรือลงในทิศทางตรงข้ามกับหุ้นแม่ (หุ้นแม่ราคาขึ้น Put DW จะมีราคาลดลง แต่ถ้าหุ้นแม่ราคาลง Put DW ก็จะราคาเพิ่มขึ้น)
จุดเด่นที่ทำให้ DW เป็นที่สนใจและได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนในตลาดหุ้น คือ การที่ราคาของ DW มีการขึ้นหรือลง ในสัดส่วนที่มากกว่าการขึ้นหรือลงของราคาหุ้นแม่ ทำให้นักลงทุนมีโอกาสในการทำกำไรในตลาดหุ้นได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ใน DW ประเภท Call DW เมื่อหุ้นแม่ปรับตัวขึ้น 1% Call DW ก็จะมีการปรับตัวมากกว่า 1% เป็นต้น
ประเด็นที่ควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ DW คือ ผู้ออก DW จะไม่ใช่บริษัทเจ้าของหุ้น แต่จะเป็นบุคคลที่ 3 ซึ่งมักจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ โดยสัญลักษณ์ของ DW ที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหุ้น ตัวเลข 2 ตัวหลังชื่อหุ้น จะเป็นตัวบอกว่าใครเป็นผู้ออก DW ตัวนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น DW ที่มีตัวย่อ ZZZ24C1803A จะเป็น DW ที่ออกโดยโบรกเกอร์หมายเลข 24 หรือ บล. ฟินันเซีย ไซรัส เป็นต้น
DW : เหมาะกับคนที่ต้องการผลตอบแทนที่รวดเร็ว และพร้อมรับความเสี่ยงได้สูง
4. กองทุน ETF (Exchange Traded Fund) กองทุนที่ซื้อขายกันในตลาดหุ้น
กองทุน ETF จัดเป็นกองทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีข้อแตกต่างจากกองทุนประเภทอื่น คือ เป็นกองทุนที่จดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหุ้นเสมือนเป็นหุ้นตัวหนึ่ง ซึ่งกองทุน ETF จะต้องเป็นกองทุนที่มีนโยบายในการสร้างผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนีตัวใดตัวหนึ่ง เช่น ดัชนีหุ้นในประเทศ ดัชนีหุ้นต่างประเทศ ราคาทองคำ เป็นต้น
ผู้บริหารกองทุน ETF จะพยายามนำเงินของผู้ซื้อกองทุนมาลงทุนโดยทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือกองทุน ETF ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีที่ใช้อ้างอิงให้มากที่สุด (ไม่ได้ต้องการบริหารให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่า ต้องการให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้) ซึ่งเราจะเรียกกลยุทธ์ในการบริหารกองทุนแบบนี้ว่าการบริหารเชิงรับ (Passive Strategy) ดังนั้นผู้ที่ซื้อกองทุน ETF ที่มีนโยบายลงทุนอ้างอิงกับผลตอบแทนดัชนี SET50 ก็จะได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับการซื้อหุ้น 50 ตัวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET50 เป็นต้น
ETF : กองทุนที่ซื้อขายในตลาดหุ้นโดยที่ราคาซื้อขายเป็นแบบ Real-Time เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยง หรือผู้ที่ต้องการลงทุนโดยพิจารณาจากภาพรวม
และทั้งหมดนี้ คือ สินค้าเด่นในตลาดหุ้นที่ผมอยากจะแนะนำให้มือใหม่ได้รู้จักกันครับ ซึ่งสำหรับมือใหม่ ผมขอแนะนำเพิ่มเติมอีกสักนิดว่า ให้พยายามศึกษาหาความรู้ให้มั่นใจเสียก่อน อย่าเพิ่งไปลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะตราสารประเภทวอแรนท์ (Warrant) และ DW เพราะตราสารเหล่านี้เป็นตราสารที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ไม่เหมาะกับมือใหม่ หรือผู้ที่ไม่มีประสบการณ์